สำหรับเด็กวัย 2 เดือน หน้าที่หลักของยังคงเป็นการนอน โดยเด็กจะนอน 15-16 ชั่วโมง/วัน สามารถยกหัวขึ้นได้บ้าง แล้วแต่คอยังไม่แข็งพอ เพราะฉะนั้นเวลาอุ้มจึงยังต้องประคองคออยู่ เบบี้ 2 เดือน มองเห็นได้ไกล 18 นิ้ว และเริ่มพูดคุยได้แล้ว จึงเป็นช่วงที่ คุณพ่อ คุณแม่ เริ่มเล่นกับลูกได้แล้ว
เบบี้ 2 เดือนเล่นอะไรกับเขาดี ?
จับคว่ำ
ให้จับลูกคว่ำทุกวัน เด็กจะได้ฝึกความแข็งแรงของคอ, ไหล่, แขน, ลำตัว ซึ่งกล้ามเนื้อเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ สามารถ พลิกคว่ำ, พลิกหงาย, คลาน, ตั้งไข่ จนกระทั่งลุกขึ้นยืนได้ในอนาคต
อ่านนิทาน
การอ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน ด้วยการใช้เสียงสูง-ต่ำ หรือดัดเสียงบ้าง เบบี้จะชอบมาก ทำให้พวกเขาเกิดความเพลิดเพลิน และควรอ่านนิทานท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอันสงบเงียบ เช่น สวนหลังบ้านในยามบ่าย เป็นต้น
สัมผัสสื่อรัก
การสัมผัสลูกบ่อยๆ จะช่วยทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง คุณพ่อ-คุณแม่และลูก ซึ่งช่วยพัฒนาให้ทั้งจิตใจและร่างกายแข็งแรง ทำให้เด็กๆ นอนหลับได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยคลายเครียดให้แก่เด็กทารกได้ดี
ปล่อยเด็กลงพื้น
การปล่อยเด็กๆ ให้มีความอิสระบ้างจะช่วยทำให้เด็กเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกสนุกสนาน ด้วยการ ให้เด็กนอนกลิ้งไปกลิ้งมาบนพื้น อย่าลืมว่า ควรจะมีเบาะรองคลานรองด้วยเบบี้จะได้ไม่เจ็บตัว
เต้นดุ๊กดิ๊ก
การจับลูกให้เคลื่อนไหวไปมา เช่น จับลูกทำเครื่องบิน, โยกไปทางซ้าย-ขวาเบาๆ เหมือนกำลังเต้นรำ, ยกลูกขึ้นลง เล่นสูงๆ จะทำให้ลูกมีความสุขสุดๆ เพราะได้ทำกิจกรรมกับคุณพ่อ-คุณแม่
พื้นผิวหลากหลาย
การให้ลูกได้สัมผัสพื้นผิวที่แตกต่างกัน จะกระตุ้นเรื่องการเรียนรู้ของลูก โดยคุณอาจใช้ผ้าที่แตกต่างกัน เช่น ผ้าขนแกะ, ผ้าฝ้าย, ผ้าไหม เป็นต้น หรือให้ลูกลองจับวัสดุต่างๆ เช่น ฟองน้ำ , ยางยืด ก็ได้
นิ้วเริงร่า
ถึงแม้เบบี้จะยังมองไม่ได้ไกล หากแต่ก็ยังเห็นชัดกว่าตอนอายุ 1 เดือน เพราะฉะนั้นให้คุณแม่ไล่นิ้วไปมา ตามจังหวะเสียงเพลง ช้าบ้าง, เร็วบ้าง, ไปข้างหน้าบ้าง, มาข้างหลังบ้าง ลูกจะมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง
ชวนมอง
ให้คุณแม่ถือของเล่นต่างๆ ที่มีสีสันสดใส ที่ช่วยดึงดูดความสนใจของลูกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสนุกสนาน ด้วยการพากย์เสียงต่างๆ เข้าไปด้วย
หาของให้เขย่า
เด็กเบบี้วัย 2 เดือนจะชอบเขย่ามือและเท้ามาก เพราะฉะนั้นของเล่นที่มีเสียงต่างๆ จะถูกใจเด็กวัยนี้มาก แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะชอบเล่นเหมือนกันทุกอย่าง เพราะฉะนั้นคุณพ่อ คุณแม่ต้องค่อยๆ ค้นหาไปเรื่อยๆ